ทองร่วงแรง ลงแล้ว 1,300 บาท โลกคลายกังวลสงครามการค้า

ราคาทอง

กรุงเทพฯ 23 เม.ย. – ทองคำสินทรัพย์เสี่ยงวันนี้ร่วงแรง ชั่วโมงแรกการค้าลงรวม 1,300 บาท หลังจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการคลายความกังวลสงครามการค้า ด้านบาทอ่อนค่าแรง ในขณะที่ไอเอ็มเอฟลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้จะโตเพียง 1.8%

สมาคมค้าทองคำรายงานวันนี้ (23 เม.ย.) จนถึงเวลา 10.10 น. ราคาทองเปลี่ยนแปลงรวม 10 ครั้ง โดยเป็นการลดลงทั้งหมดรวม 1,300 บาทต่อบาททองคำ ราคาขายออกทองแท่ง 53,150 บาท ทองรูปพรรณ 53,950 บาท บนฐาน ราคาทอง GOLD SPOT ที่ 3,349 ดอลลาร์ต่ออนว์ เงินบาท 33.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาประกาศครั้งที่ 1 เมื่อเวลา 09.07 น. ทองไทยร่วงหนัก 850 บาท เมื่อเทียบกับราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายของเมื่อวานนี้ โดยระหว่างวันวานนี้ราคาทองไทยปรับตัวขึ้นร้อนแรง 1,600 บาท ทองแท่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์บริเวณ 54,800 บาท จากนั้นปิดตลาดลดลงสู่บริเวณ 54,450 บาท
ทั้งนี้ ราคาทองคำ Spot เช้าวันนี้ร่วงหนักจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเมื่อวานกว่า 100 ดอลลาร์ สู่บริเวณ 3,380 ดอลลาร์

ด้านสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 5.9 ดอลลาร์ หรือ 0.17% ปิดที่ 3,419.40 ดอลลาร์/ออนซ์ ตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะคลี่คลายลงในไม่ช้า ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

โดยสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมนักลงทุนซึ่งธนาคารเจพีมอร์แกนจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันเมื่อวานนี้ว่า เขาคาดว่าความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะคลี่คลายลงในไม่ช้า พร้อมกับกล่าวว่า แม้การเจรจากับจีนมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ แต่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็ไม่คิดว่าจะปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าภาษีศุลกากรขั้นสุดท้ายที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากสินค้าจีนนั้น “จะไม่สูงถึง 145%” แต่ในขณะเดียวกันเขากล่าวว่า อัตราภาษีที่เรียกเก็บจากจีน “จะไม่เป็น 0%” และระบุว่า ไม่มีเป้าหมายที่จะปลดเจอโรม พาวเวล ออกจากตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก่อนที่พาวเวลจะครบวาระในเดือน พ.ค.2569 แต่ยังคงกดดันให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยย้ำว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอยากเห็นประธานเฟดตัดสินใจอย่างรวดเร็วหรือทันเวลา แทนที่จะช้าเกินไป

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของเฟด และยังเป็นปัจจัยหนุนดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 500 จุดในช่วงเช้าวันนี้ ส่งผลตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นในเอเชียเปิดบวก

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า โดยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ที่มีการเผยแพร่ล่าสุด (22 เม.ย.68) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.8% และ 3.0% ในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.3% สำหรับปี 2568 และ 2569 โดยคาดว่าเศรษฐกิจะได้รับผลกระทบจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และยังปรับลดคาดการณ์จีดีพีกลุ่มประเทศ ASEAN-5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) ลดลง กระทบหนักที่สุดจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐ โดยคาด “ไทย” จีดีพีปีนี้จะโตเพียงที่ 1.8% จากเดิมคาดโต 2.9% ส่วนปีหน้าคาดโตเพียง 1.6%

ด้านดัชนีดอลลาร์ วานนี้เคลื่อนไหวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.56% แตะที่ระดับ 98.918 ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

ด้านเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.23 บาทต่อดอลลาร์ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.18-33.70 บาทต่อดอลลาร์) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลงบ้าง จากคำสัมภาษณ์ของทั้งรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยังลดความกังวลต่อประเด็นการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงานของเฟด ภาพดังกล่าว ได้หนุนให้บรรยากาศตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย ยอดนิยมในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และทองคำ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการปรับตัวลงแรงของราคาทองคำ ได้กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ยังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้. -511-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม


KUBET

KUBET

KUBET